หน้าที่ของศุลกากร |
กรมศุลกากรมีหน้าที่ตามกฏหมายในการดูแลการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ป้องกันการลักลอบสินค้า ดูแลของต้องห้ามต้องกำกัดตามกฏหมายต่างๆ ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลืออำนวยความสะดวกต่อผู้ประสงค์จะเดินทางเข้า-ออก นักท่องเที่ยวและผู้สนใจทั่วไป กรมศุลกากรจึงมีความยินดีที่จะให้บริการข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินทางเข้า-ออกซึ่งควรทราบในเว็บไซต์นี้เป็นความรู้ |
ข้อแนะนำสำหรับผู้เดินทางเข้า-ออกนอกราชอาณาจักรมีดังนี้ |
- ก่อนการเดินทางท่านจะต้องเตรียมเอกสารการเดินทางให้พร้อม พึงสนใจศึกษาระเบียบศุลกากร เรื่องของด่านกักกันโรค การตรวจคนเข้าเมือง ชนิดของเงินตราของประเทศที่จะเดินทาง ไปและอัตราแลกเปลี่ยนตลอดจน ชนิดและปริมาณของที่ได้รับอนุญาตให้ได้รับยกเว้น ภาษีอากรเมื่อนำเข้ามา
- หากมีของเกินกว่าปริมาณที่ได้รับยกเว้นภาษีอากร ให้สำแดงต่อศุลกากรเพื่อชำระภาษีอากรให้ถูกต้อง ในกรณีที่ท่านสงสัยในชนิดและปริมาณของที่ได้รับยกเว้นอากรที่แจ้งไว้ในแบบสำแดงการนำเข้า ซึ่งท่านจะได้รับก่อนเดินทางเข้าถึงประเทศ โปรดสอบถามเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำการ
- อย่ารับฝากของใดๆ จากบุคคลอื่น เนื่องจากท่านจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบถ้าเป็นของผิดกฏหมาย
- พึงสังวรว่าโทษในการครอบครองเป็นเจ้าของยาเสพติดมีโทษหนักมาก ทั้งค่าปรับ การถูกจำคุก หรืออาจถึงขั้นประหารชีวิต
|
กฎหมายและระเบียบพิธีการศุลกากรที่ผู้เดินทางเข้าออกประเทศไทย ทางท่าอากาศยานระหว่างประเทศควรทราบ มีดังต่อไปนี้ |
- การเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ถ้าผู้โดยสารต้องการนำของใช้ส่วนตัวติดตัวออกไประหว่าง การเดินทาง เช่น นาฬิกา สร้อยคอ แหวน กล้องถ่ายวีดีโอ กล้องถ่ายรูป วิทยุเทป คอมพิวเตอร์สำหรับพกพา ฯลฯ และประสงค์จะนำกลับมาภายในประเทศโดยได้รับยกเว้นอากร ผู้โดยสารจะต้องนำของดังกล่าว พร้อมบัตรที่นั่งบนเครื่องบิน (Boarding Pass) หนังสือเดินทาง และตั๋วโดยสาร มาแสดงแก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรก่อนเดินทางเพื่อบันทึกรายละเอียดและรับสำเนาเอกสารไว้ สำหรับแสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำช่องตรวจสีแดงในวันเดินทางกลับเข้ามาประเทศไทย ภายใต้เงื่อนไขดังนี้
- เป็นของเก่าใช้แล้วและมีจำนวน / ปริมาณพอสมควรแก่ฐานะ
- มีเครื่องหมาย เลขหมายให้ตรวจสอบได้ง่าย
หากผู้โดยสารมีของที่มิใช่ของใช้ส่วนตัว แต่มีลักษณะเป็นสินค้า โปรดติดต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรล่วงหน้าเพื่อแนะนำไปปฏิบัติพิธีการศุลกากรก่อนการเดินทาง
- ของต้องห้าม ต้องกำกัด
- ของต้องห้าม หมายถึง ของที่ห้ามไม่ให้นำเข้ามาหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร เช่น
ยาเสพติดให้โทษ
วัตถุระเบิด
สิ่งพิมพ์หรือวัตถุลามก
สัตว์ป่าสงวน
- ของต้องกำกัด หมายถึงของบางชนิดที่มีกฎหมายควบคุมการนำเข้าและส่งออกผู้ที่ประสงค์จะนำเข้าหรือส่งออกไป ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนำมาแสดง ต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรในขณะนำเข้าและส่งออกด้วย เช่น
-
พระพุทธรูป ศาสนาวัตถุ โบราณวัตถุ (กรมศิลปากร)
-
สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์เลี้ยง เช่น นก ลิง แมว ฯลฯ (กรมป่าไม้หรือกรมปศุสัตว์)
-
สัตว์มีชีวิตและซากสัตว์ (กรมปศุสัตว์)
พันธุ์พืช เช่น ทุเรียน ลำไย ฯลฯ (กรมวิชาการเกษตร)
- อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ กระทรวงกลาโหม)
- ยาและเคมีภัณฑ์บางชนิด (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา)
- การนำเงินตราเข้า-ออกประเทศ
ผู้โดยสารสามารถนำเงินตราไทย-เงินตราต่างประเทศหรือปัจจัยการชำระเงินตราต่างประเทศเข้ามา หรือออกไปนอกราชอาณาจักรไทยได้ตามมูลค่าที่กฎหมายกำหนด โดยไม่ต้องขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนี้
- เงินไทย ผู้โดยสารสามารถนำติดตัวเดินทางไปต่างประเทศได้ คนละไม่เกิน 50,000 บาท ยกเว้นนำออกไปยังประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย เช่น พม่า สปป ลาว เขมร มาเลเซียและเวียดนาม นำออกได้คนละไม่เกิน 500,000 บาท ในกรณี การนำเข้า ผู้โดยสารสามารถนำเงินตราไทยนำเข้าได้ไม่จำกัดมูลค่า
- เงินตราต่างประเทศหรือปัจจัยการชำระเงินตราต่างประเทศ ผู้โดยสารสามารถนำติดตัวไปต่างประเทศหรือนำเข้ามาได้ไม่จำกัดมูลค่าและ ผู้เดินทางผ่านหรือผู้ที่เข้ามาในราชอาณาจักรชั่วระยะเวลาที่กำหนด ในตั๋วเดินทางผ่านหรือตั๋วเดินทางไปกลับก็สามารถนำเงินตราต่างประเทศ ติดตัวเข้ามาในประเทศไทยไม่จำกัดมูลค่าเช่นกัน
- หากผู้โดยสารต้องการนำเงินตราไทยออกนอกราชอาณาจักรมูลค่าเกินกว่า ที่กฎหมายกำหนด ต้องขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย และ นำหลักฐานการได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธต.5) มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศในขณะเดินทางออกนอกประเทศ
- การสำแดงกระเป๋าและสัมภาระในการเดินทางเข้าราชอาณาจักร
- ผู้โดยสารต้องกรอกรายการในแบบสำแดงสิ่งของติดตัวผู้โดยสาร (แบบ 211) และยื่นแบบฟอร์มดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรขณะนำกระเป๋า สัมภาระผ่านเจ้าหน้าที่ศุลกากร
- ผู้ไม่มีของต้องเสียภาษีอากร ของต้องห้าม ของต้องกำกัดให้ยื่นแบบสำแดงสิ่งของติดตัวผู้โดยสารแก่เจ้าหน้าที่ศุลกากร ในช่องเขียวซึ่งมีป้ายเขียนไว้ว่า"ไม่มีของสำแดง"
- ผู้ที่มีของต้องเสียภาษีอากร ของต้องห้าม ของต้องกำกัด หรือไม่แน่ใจว่าของที่นำเข้ามานั้น ต้องเสียภาษีอากรหรือไม่ ให้ยื่นแบบสำแดงสิ่งของติดตัวผู้โดยสารแก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรในช่องแดง ซึ่งมีป้ายเขียนไว้ว่า "มีของต้องสำแดง"
- การชำระอากรปากระวาง
ของทุกชนิดที่นำเข้ามาในประเทศไทยต้องชำระค่าภาษีอากรและปฏิบัติตามกฎหมายศุลกากร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องสำหรับการชำระอากรปากระวางสำหรับ ของติดตัวผู้โดยสาร มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้
- เป็นของที่นำเข้ามาใช้เอง และมีจำนวนเห็นได้ชัดว่ามิใช่เพื่อการค้า
- ของมูลค่าไม่เกิน 80,000 บาท
- ผู้โดยสารสามารถชำระค่าภาษีอากรได้เป็นเงินสด ณ วันนำเข้า
กรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าวเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะส่งของทั้งหมด ไปปฏิบัติพิธีการศุลกากรที่งานของติดตัวผู้โดยสารฝ่ายตรวจสินค้า
ขาเข้าที่ 1 ส่วนการนำเข้า โดยผู้โดยสารจะได้รับใบส่งของ (แบบ 466) ไว้เป็นหลักฐาน
- การยกเว้นภาษีอากรขาเข้าของติดตัวผู้โดยสาร ของดังต่อไปนี้ที่ผู้โดยสารนำติดตัวเข้ามาจะได้รับยกเว้นอากรขาเข้า
- บุหรี่ไม่เกิน 200 มวน หรือซิการ์และยาเส้น น้ำหนักไม่เกิน 250 กรัม
- สุรา 1 ลิตร
- ของใช้ส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพและ จำนวนพอสมควรแก่ฐานะและมูลค่าไม่เกิน 10,000 บาท และไม่มีลักษณะเป็นการค้า เช่น เครื่องแต่งกาย เครื่องสำอาง เครื่องประดับ รองเท้า นาฬิกา แว่นตา น้ำหอม
เป็นต้น
ทั้งนี้ผู้โดยสารต้องมี เอกสารใบเสร็จรับเงินมาแสดงเป็นหลักฐานประกอบด้วย หากไม่มีเอกสารใบเสร็จรับเงิน เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะใช้ หลักฐานอื่นประกอบ
ของใช้ในบ้านเรือนเก่าใช้แล้วที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนเนื่องจาก การย้ายภูมิลำเนาและมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ
- การปฏิบัติพิธีการศุลกากรเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงมีชีวิต
ผู้โดยสารที่นำสัตว์เลี้ยงติดตัวเข้ามาพร้อมกับตนโดยไม่มีลักษณะทางการค้า หรือนำสุนัขและแมวเข้ามาในราชอาณาจักร ณ สำนักงานศุลกากรท่าอากาศยานกรุงเทพและภูมิภาค ทั้งแบบที่ไม่นำติดตัวเข้ามา (UNACCOMPANIED BAGGAGE) แต่นำเข้ามาในระวางบรรทุก (CARGO FREIGHT) และแบบนำติดตัวเข้ามา (ACCOMPANIED BAGGAGE)
ข้อแนะนำในการปฏิบัติพิธีการศุลกากร
- เอกสารที่ควรจัดเตรียมในการนำเข้าสัตว์เลี้ยงมีชีวิต
(1) ใบขนสินค้าขาเข้าพิเศษฯ (กศก.102)
(2) หนังสือเดินทาง (PASSPORT)
(3) ต้นฉบับใบตราส่งสินค้าทางอากาศ (AIR WAYBILL)ในกรณีที่ยังไม่ได้รับต้นฉบับ AWB ให้ใช้เอกสารอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
สำเนา AIR WAYBILL ฉบับผู้โดยสาร หรือ
สำเนา AIR WAYBILL ฉบับที่บริษัทตัวแทนสายการบินรับรอง หรือ
สำเนา AIR WAYBILL ฉบับ SHIPPER หรือ
HEALTH CERTIFICATE หรือ
PEDIGREE หรือ
ใบเสร็จค่าระวางบรรทุก หรือ
หลักฐานอื่นๆ ที่แสดงความเป็นเจ้าของ
(4) ใบแจ้งอนุมัตินำสัตว์หรือซากสัตว์เข้าและผ่านราชอาณาจักร (ร.6) และ/หรือใบอนุญาตนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักร(ร.7) ในกรณีที่ด่านกักกันสัตว์ระหว่างประเทศด่านศุลกากรทางอากาศกองควบคุมโรคระบาด กรมปศุสัตว์ ได้ออกเฉพาะใบแจ้งอนุมัตนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้าและผ่านราชอาณาจักร (ร.6) เท่านั้น กรมศุลกากรจะตรวจปล่อยและส่งมอบสัตว์มีชีวิตให้แก่เจ้าหน้าที่ประจำด่าน กักกันสัตว์ระหว่างประเทศ
(5) คำร้องขอยกเว้นอากร (กรณีนำเข้าชั่วคราว)
(6) สัญญาประกันทัณฑ์บน (กรณีนำเข้าชั่วคราว)
- ขั้นตอนการปฏิบัติพิธีการศุลกากรการนำเข้าสัตว์เลี้ยงมีชีวิต
(1) ผู้โดยสารหรือตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องยื่นต้นฉบับใบขนสินค้าขาเข้าพิเศษฯ (กศก.102) และเอกสารประกอบตามข้อ 1 พร้อมสำเนาอย่างละ 1 ชุด ต่อฝ่ายตรวจสินค้าขาเข้าของสำนักงานศุลกากรท่าอากาศยานที่นำเข้า
(2) กรณีการนำเข้าชั่วคราว กรมศุลกากรทำการตรวจสอบเอกสารเสนอขอยกเว้นอากร ตรวจสอบการคำนวณราคาของ และค่าภาษีอากรเพื่อวางประกันและทำสัญญาประกันทัณฑ์บนไว้หากถูกต้อง จะออกเลขที่ยกเว้นอากรและสั่งการตรวจ หลังจากนั้นจะมอบเอกสารทั้งหมดคืนให้ผู้นำเข้า
(3) กรณีการนำเข้าถาวร กรมศุลกากรทำการตรวจสอบเอกสาร การคำนวณราคาของ หากถูกต้องจะออกเลขที่ใบขนสินค้า และมอบเอกสารทั้งหมดคืนให้ผู้นำเข้าเพื่อนำไปชำระภาษีอากรที่ฝ่ายบัญชีและอากร
(4) ผู้นำของเข้านำใบขนสินค้าฯ พร้อมเอกสารและหลักฐานการชำระอากร หลักฐานการชำระประกันค่าภาษี (แล้วแต่กรณี) ไปแสดงที่ส่วนตรวจสินค้าเพื่อขอรับของออกจากอารักขาศุลกากร
(5) กรณีการนำเข้าชั่วคราว เมื่อกรมศุลกากรทำการการตรวจปล่อยเรียบร้อยแล้วจะมอบสำเนาใบขนสินค้าขาเข้า พิเศษและสำเนาสัญญาประกันทัณฑ์บนแก่ผู้โดยสารหรือตัวแทน เพื่อไว้ใช้เป็นหลักฐานประกอบการส่งออก
- ข้อควรทราบในการนำเข้าสัตว์เลี้ยงมีชีวิต
(1) การนำเข้าสัตว์เลี้ยงมีชีวิตชั่วคราว ผู้โดยสารหรือตัวแทนต้องทำสัญญาประกันและทัณฑ์บนกับกรมศุลกากรว่าจะส่งออกไปภายใน 6 เดือนนับแต่วันนำของเข้าตามแบบที่กำหนดโดยให้ระบุด่านศุลกากร ที่จะส่งกลับออกไปและใช้หนังสือค้ำประกันของธนาคาร หรือบุคคลที่เชื่อถือได้
(2) การไม่นำสัตว์ที่นำเข้ามาเป็นการชั่วคราวกลับออกไป ผู้นำของเข้าต้องชดใช้เงินตามสัญญาประกันที่ให้ไว้ และอาจถูกดำเนินคดีฐานหลีกเลี่ยงการชำระค่าภาษีอากร และ/หรือ หลีกเลี่ยงข้อกำกัดของกฎหมายอันมีโทษปรับ หรือจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับตามกฏหมายศุลกากรอีกด้วย
- การลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
ผู้โดยสารที่นำของต้องชำระค่าภาษีอากร ของต้องห้าม ของต้องกำกัดเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่สำแดงหรือสำแดงไม่ถูกต้อง จะได้รับโทษตามกฎหมายศุลกากร ดังนี้
-
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบและจับกุมผู้ต้องหาขณะอยู่ในช่องเขียว (Green Channel) จะถูกปรับ 1 เท่าของราคาของบวกค่าภาษีอากรกับอีก 1 เท่าของภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อมหาดไทย (ถ้ามี) และผู้ต้องหาต้องยกของกลางให้เป็นของแผ่นดิน
- ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบและจับกุมผู้ต้องหาภายหลังผ่านพ้นช่องเขียว (Green Channel) และขณะที่ นำของผ่านออกไปนั้นมิได้เข้ามาในลักษณะซุกซ่อนเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ตรวจพบผู้ต้องหาจะถูกปรับ 2 เท่าของของราคาของบวกค่าภาษีอากรกับอีก 1เท่าของภาษีมูลค่าเพิ่มภาษีสรรพสามิตภาษีเพื่อมหาดไทย(ถ้ามี)แล ะผู้ต้องหาต้องยกของกลางให้เป็นของแผ่นดินในกรณีที่นำเข้ามาในลักษณะซุกซ่อนให้ปรับ 4 เท่าของของราคาของบวกค่าภาษีอากรและผู้ต้องหาต้องยกของกลางให้เป็นของแผ่นดิน
- ในกรณีของที่ลักลอบนำเข้ามาเป็นของที่ไม่ต้องชำระอากรศุลกากร ไม่ว่าจะตรวจพบในช่องเขียว (Green Channel) หรือผ่านพ้นช่องเขียวไปแล้วก็ตาม ถือเป็นของซึ่งมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ผู้ต้องหาต้องยกของกลางให้เป็นของแผ่นดิน
- ของต้องห้าม หมายถึงของที่มีกฎหมายกำหนดห้ามนำเข้ามา หรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรโดยเด็ดขาด และในบางกรณีห้ามการส่งผ่านด้วย ผู้ใดนำสินค้าต้องห้ามเข้ามาหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรจะ มีความผิดต้องรับโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและเป็นความผิดตามมาตรา 27 และ 27 ทวิของกฎหมายศุลกากรด้วย ตัวอย่างสินค้าต้องห้ามในการนำเข้า-ส่งออก มีดังนี้
- วัตถุลามก การนำเข้าและส่งออกวัตถุลามก ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบหนังสือ ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งที่พิมพ์ขึ้น รูปภาพ
ภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย และภาพยนตร์ลามกหรือวัตถุลามกอื่น ๆ
- สินค้าที่มีตราหรือลวดลายเป็นรูปธงชาติ
- ยาเสพติดให้โทษ
- เงินตรา พันธบัตร ใบสำคัญรับดอกเบี้ยพันธบัตรอันเป็นของปลอมหรือแปลง เหรียญกษาปณ์ที่ทำให้น้ำหนักลดลงโดยทุจริต
ดวงตราแผ่นดิน รอยตราแผ่นดินหรือพระปรมาภิไธย ดวงตราหรือรอยตราของทางราชการอันเป็นของปลอม
- สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น แถบบันทึกเสียง (เทปเพลง) แผ่นบันทึกเสียง (คอมแพคดิสก์) แถบบันทึกภาพ (วีดีโอเทป) โปรแกรม
คอมพิวเตอร์ หนังสือ หรือสินค้าอื่นใดที่ทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น
- สินค้าปลอมแปลงหรือเลียนแบบเครื่องหมายการค้า
- ของต้องกำกัด หมายถึงสินค้าที่มีกฎหมายกำหนดว่าหากจะมีการนำเข้า-ส่งออกหรือผ่านราชอาณาจักรจะต้องได้รับอนุญาตหรือปฏิบัติให้ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น ๆ เช่น ต้องมีใบอนุญาตการนำเข้าและส่งออก ต้องปฏิบัติตามประกาศอันเกี่ยวกับฉลากหรือใบรับรองการวิเคราะห์ หรือเอกสารกำกับยา เป็นต้น ผู้ใดนำของต้องกำกัดเข้ามา หรือส่งออก หรือส่งผ่านราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาตหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดไว้ให้ครบถ้วน จะมีความผิดตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น ๆ และเป็นความผิดตามมาตรา 27 และ 27 ทวิของกฎหมายศุลกากรด้วย ตัวอย่างสินค้าที่ กระทรวงพาณิชย์ จัดระเบียบเพื่อควบคุมการนำเข้าหรือส่งออก มีดังนี้
- เงินตราไทยและเงินตราต่างประเทศ
- พันธุ์ยางและยางธรรมชาติ
- ยาสูบ รวมถึงต้นยาสูบและใบยาเส้น
- สัตว์และซากสัตว์
- เครื่องวิทยุคมนาคม และส่วนแห่งเครื่องวิทยุคมนาคม
- อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน
- วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน
- ยา เชื้อโรค และพิษจากสัตว์
- สุรา
- สินค้าประเภทอาหารที่มีความหวานเจือปน
- เครื่องชั่ง ตวง วัด
กรมศุลกากรมีหน้าที่ป้องกันการนำเข้า หรือส่งออก หรือส่งผ่านสินค้าต้องห้าม ส่วนสินค้าต้องกำกัด กรมศุลกากรมีหน้าที่ต้องตรวจสอบว่า การนำเข้า หรือส่งออก หรือส่งผ่านแดนได้รับอนุญาตและปฏิบัติตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ครบถ้วนหรือไม่ สำหรับบัญชีรายชื่อสินค้าต้องห้ามต้องกำกัด สามารถตรวจสอบได้จาก กระทรวงพาณิชย์
|
ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.customs.go.th |
ติดต่อสอบถาม กรมศุลกากร เลขที่1 ถ.สุนทรโกษา คลองเตย กทม.10110 โทร.0-2249-0431 ถึง 40 |